ปัจจุบันมีการใช้คอมพิวเตอร์กันอย่างแพร่หลาย ทั้งเล่นเกม พิมพ์งาน เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แต่เมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนาไม่หยุดนิ่ง กิจกรรมข้างต้นสามารถทำผ่านช่องทางอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต แน่นอนว่า อุปกรณ์ที่ทันสมัยหากใช้ไม่ถูกต้องเหมาะสม แทนที่จะเกิดประโยชน์ ก็อาจเกิดโทษได้
เริ่มจาก นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ รพ.พระนั่งเกล้า กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การทำกิจกรรมอะไรก็ตามเกี่ยวกับเทคโนโลยีจอใหญ่ จอเล็ก ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต การนั่งนาน ๆ จ้องนาน ๆ ไม่พ้นเป็นภาระดวงตา นิ้ว มือ แขน ไหล่ หลัง ก้น และขา ไม่ว่าเด็ก วัยรุ่น เยาวชน วัยกลางคน ผู้สูงอายุ หลายคนจะฝืนเพื่อความอยากรู้ อยากเห็น ด้วยความเพลิดเพลินทางอารมณ์ ต้องการรู้เหนือผู้อื่น ต้องการเป็นหนึ่งว่าข้าแน่ รู้ทุกอย่างที่คนอื่นไม่รู้ เพื่อจะเด่นในอาชีพ วิชาชีพของตนเอง จึงเป็นที่มาของโรคเงียบซึ่งเป็นภัยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ผลกระทบด้านร่างกาย คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับดวงตา และโรคทางกล้ามเนื้อ กระดูก ซึ่งจะทำให้มีโรคประจำตัวไปจนกระทั่งแก่เฒ่า และทำให้เป็นทุกข์ตลอดชีวิต
โรคเกี่ยวกับดวงตา การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บ เล็ต เป็นเวลานาน ถ้าระดับที่วางความสว่างไม่เหมาะสม อาจส่งผลกระทบต่อระบบของการกลอกตา ระบบกล้ามเนื้อและประสาท ซึ่งจะเกิดหลังจากใช้สายตานานผิดปกติ ทำให้เกิดอาการดวงตาล้า ดวงตาตึงเครียด ตาช้ำ ตาแดง แสบ
ข้อแนะนำ คือ ควรใช้เวลาทำงานหรือเล่นกับคอมพิวเตอร์ 25–30 นาที ในแต่ละช่วงและพัก 1–5 นาที จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น วางคอมพิวเตอร์ให้ห่างจากตาประมาณ 20–26 นิ้ว วางคีย์บอร์ดและเมาส์ให้อยู่ต่ำกว่าศอก แสงไฟไม่ควรส่องจากด้านหลัง ที่สำคัญไม่ควรส่องเข้าหาจอคอมพิวเตอร์ ควรปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้มีความสว่างเท่ากับความสว่างของห้อง ปรับความถี่ของคอมพิวเตอร์อยู่ในระดับ 70–80 เฮิรตซ์ หรือปรับให้สูงสุดเท่าที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ยังรู้สึกสบายตา การใช้ตัวหนังสือควรใช้ตัวหนังสือสีดำบนพื้นสีขาว ใช้แผ่นกรองแสง และดูแลหน้าจอคอมพิวเตอร์ไม่ให้มีฝุ่นเกาะติด เพื่อทำให้การมองเห็นชัดเจน ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์หรือเล่นเกม ส่วน สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ก็ไม่ควรใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ควรพักสายตาเป็นระยะเช่นเดียวกัน
ที่มา : http://www.legendnews.net/index.php?lay=show&ac=article&Id=539363059&Ntype=41
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น